กำเนิดนาฬิกาที่เที่ยงตรงที่สุดในโลก
คนไทยกับเวลานั้นสัมพันธ์กันแบบเลทๆ มาตั้งแต่อดีต จนปัจจุบันได้มีความพยายามแก้ไขโดยลงทุนระบบเวลาในรัฐสภาให้เที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็หวังว่าจะทำให้ตรงเวลาขึ้น แบไต๋ไฮเทคจึงขอเกาะกระแสเรื่องเวลาด้วยผลงานชิ้นใหม่จาก NIST หรือ National Institute of Standards and Technology สถาบันที่คอยกำหนด ควบคุมดูแลมาตรฐานชั่ง ตัก วัดของอเมริกา (ของไทยคือสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ)
ในอดีตนั้นนาฬิกาที่เที่ยงตรงที่สุดในโลกคือนาฬิกาอะตอมที่อาศัยธาตุ Cesium-133 จนมีการกำหนดมาตรฐานว่า 1 วินาทีของสากลโลกเท่ากับการเวลาที่ธาตุ Cesium-133 รับและปลดปล่อยพลังงานครบ 9,192,631,770 รอบ
ในโลกอุดมคติ นาฬิกาที่เที่ยงตรงที่สุด คือนาฬิกาที่มีทุกๆ วินาทียาวเท่ากัน ส่วนในโลกของความเป็นจริง แม้แต่นาฬิกาที่แม่นยำที่สุดก็ยังมีความผิดเพี้ยน อย่างนาฬิกาอะตอม NPL-CsF2 ของสหราชอาณาจักร มีความผิดเพี้ยนแค่ 1 วินาทีในรอบการเดิน 138 ล้านปี
Andrew Ludlow นักฟิสิกส์จาก NIST จึงพัฒนานาฬิการุ่นใหม่ที่เที่ยงตรงยิ่งกว่าเดิม โดยเปลี่ยนจาก Cesium-133 มาเป็นธาตุ Ytterbium (อิตเทอร์เบียม ธาตุลำดับที่ 70 ในตารางธาตุ เป็นหนึ่งในธาตุหายากของโลก)
แต่ละวินาทีของนาฬิกาใหม่เที่ยงตรงมาก มีความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 2 ในล้านล้านล้านส่วนของวินาที (2/1,000,000,000,000,000,000) ซึ่งเมื่อเทียบกับนาฬิกาอะตอมแบบเดิมจะเที่ยงตรงกว่าประมาณ 100 เท่า แต่ถ้าเทียบกับนาฬิกาข้อมือปกติก็เที่ยงตรงกว่าหมื่นล้านเท่า
ซึ่งตอนนี้ทีมงานสร้างนาฬิกาก็กำลังปรับปรุงให้มีขนาดเล็กลงต่อไป นาฬิกาที่เที่ยงตรงมีความสำคัญทั้งรักษาเวลามาตรฐานของโลกไม่ให้ผิดเพี้ยนไป และสำคัญต่อการใช้งานในเชิงวิทยาศาสตร์มากมาย เช่นระบบ GPS ที่ต้องมีนาฬิกาอะตอมบนดาวเทียมเพื่อใช้ประกอบการระบุตำแหน่งบนพื้นโลก ถ้าเวลาบนดาวเทียมผิดเพี้ยนไปก็จะบอกตำแหน่งพลาด หรือการทดลองฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับกาลอวกาศ ซึ่งนาฬิกาที่เที่ยงตรงจะพิสูจน์ได้เวลาบริเวณที่แรงโน้มถ่วงเยอะ เวลาจะไหลช้ากว่าบริเวณที่มีแรงโน้มถ่วงน้อย
ที่มา phys.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น